ข่าวฉบับที่ 24/2566

ข่าวฉบับที่ 24/2566

⚓ข่าวฉบับที่ 24/2566 ⚓

“ศักดิ์สยาม” พอใจ IMO แจงผลการตรวจประเมินประเทศไทย ผ่านมาตรฐาน พร้อม !! นำเป็นต้นแบบยกระดับมาตรฐานปลอดภัย สิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศสมาชิก

จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมเจ้าท่า เป็นหน่วยงานหลักในการรับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMSAS) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกระบวนการภายในอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เข้าร่วมในพิธีปิด การตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme : IMSAS) เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พร้อมด้วย นายโมลเอน อาซอฟ (Mr. Moain Al Zoubi) หัวหน้าคณะผู้ตรวจประเมินฯ กัปตันอานิช โจเซฟ (Capt. Anish Joseph) และนายอาจิ วาสุเดวัน (Mr. Aji Vasudevan) คณะผู้ตรวจประเมินฯ โดยมี นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย และนายวิเชียร เปมานุกรรักษ์รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมวิสูตรสาครดิษฐ์ อาคาร 162 ชั้น 4 กรมเจ้าท่า

โดยผลการตรวจประเมินประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme: IMSAS) ระหว่างวันที่ 20 – 27 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฎว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานของ IMO โดยทางคณะผู้ตรวจประเมินจาก IMO ได้แสดงความชื่นชมว่า ประเทศไทยมีระบบการปฏิบัติงานที่โดดเด่นในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ได้แก่
1. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจจับข้อบกพร่องของเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ ทำให้สามารถซ่อมบำรุงเครื่องหมายการเดินเรือได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
2. การนำระบบบูรณาการข้อมูลกิจการทางทะเล (Thai Integrated Shipping Information System: THISIS ) มาใช้ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล และกำกับดูแลการดำเนินการตามตัวชี้วัด (KPI) ทำให้สามารถดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การนำระบบ MSI Platform มาใช้ในการให้ข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเล โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทำให้การให้ข้อมูลมีความเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานของ IMO
4. การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ซึ่งปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง ในการเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือ การป้องกันการเกิดมลพิษทางน้ำ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งการดำเนินการข้างต้น IMO จะนำไปเป็นต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของการดำเนินการตรวจประเมินประเทศสมาชิกของ IMO ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อปฏิบัติอันเป็นเลิศ (best practice) ระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ คณะผู้ตรวจประเมินจากประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization – IMO) ได้เข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อรายงานผลการตรวจประเมินประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าประเทศไทยจะนำผลของการตรวจประเมินเกี่ยวกับการดำเนินการในฐานะรัฐเจ้าของธง (Flag State) รัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State) และรัฐชายฝั่ง (Coastal State) ไปปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยจะมีการตรวจสอบและติดตามการดำเนินการเป็นระยะเวลาทุก 7 ปี เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณคณะผู้ตรวจประเมินที่ให้คำแนะนำแก่ประเทศไทยในการดำเนินการตามตราสารของ IMO เพื่อพัฒนาการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

—————————-
27 กุมภาพันธ์ 2566
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
www.md.go.th

วันที่:03 มีนาคม 2566

เข้าชม:624

ข้อมูลโดย: prmd

แกลเลอรี่