กรมเจ้าท่าได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน 2560 โดยมุ่งเน้นในการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทยและกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและปลอดภัย ตลอดจนการสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการช่วยรักษาสภาพทางชลศาสตร์ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกทางหนึ่งและนโยบายที่สำคัญที่ต้องดำเนินการผลักดัน และขับเคลื่อนให้สามารถสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ โดยคำนึงถึงประชาชนหรือผู้รับบริการ รวมทั้งผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียเป็นหลักทั้งมิติด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กร คือ
- 1.การบริหารงานบุคคล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน เช่น – การเลื่อนระดับให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล กระบวนการในการพิจารณามีความชัดเจนโปร่งใส สร้างกลไกการคัดเลือกให้สามารถวัดผลได้ โดยให้คำนึงถึงประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลเป็นสำคัญ– เร่งตรวจสอบอัตราว่าง และดำเนินการบรรจุให้เต็ม จัดทำเส้นทางความก้าวหน้าในสายงาน (Career Path) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร
– งานวินัย เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว กรณีหากไม่มีมูล/ข้อมูลไม่ชัดเจน ให้ยุติ กรณีที่มีมูลความผิดที่ชัดเจน ให้ดำเนินการลงโทษ
– ให้ อ.ก.พ. กรมเจ้าท่าเป็นกลไกในการบริหารงานบุคคล โดยให้จัดการประชุม 2 เดือนครั้ง
– การพัฒนาบุคลากร เร่งรัดดำเนินการอบรมให้ความรู้ผู้ทำการในส่วนภูมิภาค ในเรื่องของการออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อป้องกันการดำเนินการผิดขั้นตอน หรือใช้ฐานอำนาจไม่ถูกต้อง
- 2.การบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ มีแนวทางดำเนินการ เช่น– การมอบอำนาจในการจัดซื้อ-จัดจ้าง เพื่อให้ความคล่องตัวเพิ่มประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายให้ทุกหน่วยดำเนินการให้ถูกต้องมีความโปร่งใสให้หารือร่วมกับกองคลัง และฝ่ายพัสดุ
– ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างอยู่ (งบประมาณ 2559-2560) และทุกหน่วยงานที่มีงบลงทุน งบประมาณ 2561 ให้เร่งรัดดำเนินการและผูกพันสัญญาให้ได้ภายใน 31 ธันวาคม 2560
– เงินกองทุน, เงินนอกงบประมาณ ให้พิจารณากำหนดเกณฑ์และกลไกในการเบิกจ่าย อาจดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าหรือรองอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกองคลังเป็นกรรมการ เพื่อร่วมพิจารณาการเบิกจ่าย สำหรับการใช้เงินนอกงบประมาณ เขต/สาขาที่มีความจำเป็นต้องใช้ ให้เขียนโครงการนำเสนอมา และให้มีการประชุมพิจารณากันเป็นระยะ โดยอาจกำหนดให้มีการประชุมทุก 2 เดือน
– การจ้างพนักงานให้เขต/สาขา มอบกองคลังพิจารณาโอนงบประมาณค่าใช้สอบให้กับสำนักงาน เจ้าท่าภูมิภาคที่มีการจ้างเหมาบริการเอกชน
- 3.การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางน้ำในส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากดำเนินการตามภารกิจแล้วต้องมีการติดตามข่าวสารที่อาจส่งผลส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินเรือหรือสัญจรทางน้ำ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยมีแนวทางการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลในด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย การควบคุมเรือ การแจ้งเตือนน้ำขึ้น-ลง และต้องมีระบบแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ ตลอดจนการรายงานให้ผู้บริหารทราบด้วย
- 4.การบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในส่วนกลางและภูมิภาคต้องกำกับดูแลและพิจารณาอย่างรอบคอบให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 และที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีคู่มือหรือหลักเกณฑ์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ชัดเจน เช่น การอนุญาตก่อสร้างท่าเรือต้องพิจารณาทั้งในส่วนของขนาดเรือที่จะเทียบท่าและตัวท่าเรือให้สอดคล้องกันด้วย ในส่วนของฐานข้อมูลให้นำข้อมูลของกองสำรวจและสร้างแผนที่มาใช้ประโยชน์
- 5.การดำเนินงานตาม IUU (Illegal, Unreported and Unregulated) โดยการกำกับดูแลการขนส่งทางน้ำเพื่อสนับสนุนการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการดำเนินงานเกี่ยวกับการประมงผิดกฎหมาย ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยทำให้วิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาการปฏิบัติงานของกรม เพื่อให้มีการใช้กฎหมายอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยต้องจัดเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและการจัดหา ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์ในการใช้เพื่อกำกับดูแลเฝ้าระวังเรือเข้ามาในน่านน้ำไทย
- 6.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ยังคงดำเนินการตามแผนต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล รวมถึงการผลักดันให้มีการเปิดเส้นทางการเดินเรือ Ferry ใหม่ ทั้งนี้การพัฒนาใด ๆ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้มีการประสานงานกับจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อรับทราบถึงปัญหาอุปสรรคทีไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น กรณีหลักไฟที่ไม่สามารถติดตั้งได้ เป็นต้น
- 7.การผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวี และกิจการพาณิชยนาวีให้รักษามาตรฐานการเรียน/การสอนให้ดี และให้กำกับหลักสูตรต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด รวมถึงการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวี
- 8.การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินของ IMO ในปี 2564 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศสมาชิกของ IMO มีการปฏิบัติตามตราสารและข้อกำหนดของตราสารของ IMO ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและบรรลุผลสำเร็จทั่วโลกอันเป็นมาตรการหนึ่งในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางทะเลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มอบสำนักมาตรฐานเรือเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
- 9.ให้ความสำคัญกับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One stop service) และการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-services ) โดยเฉพาะในปี 2561 กำหนดให้กระบวนงานของสำนักมาตรฐานทะเบียนเรือเป็นโครงการนำร่อง และจะนำเสนอสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อขอรับรางวัลด้วย
- 10.การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้เร่งรัดกฎหมายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ โดยดำเนินการในรูปของคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายเพื่อร่วมกันพิจารณาผลกระทบในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุม
- 11.เรื่องอื่นๆ ได้แก่ การประชุมต่างๆ ควรจัดทำข้อมูลให้พร้อม สรุปประเด็นให้ชัดเจน หากมีหน่วยงานภายนอกร่วมประชุม ควรมีป้ายชื่อและขอให้ดูแล ต้อนรับ และอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของกรม